Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

การเคาะปอดจัดท่าระบายเสมหะในเด็ก



1. การเคาะปอดระบายเสมหะในเด็ก

   อาการเจ็บป่วยที่มักพบบ่อยในเด็กคือโรคระบบทางเดินหายใจ เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในระบบทางเดินหายใจ ร่างกายจะพยายามกำจัดสิ่งแปลกปลอมเหล่านั้นด้วยการไอออกมา (หรืออาจกลืนลงไปบ้าง ร่างกายก็จะขับถ่ายออกมาได้เอง) เป็นกลไกป้องกันตัวตามปกติของร่างกาย แต่สำหรับเด็กมักจะไม่สามารถไอและขับเสมหะออกมาได้เอง ทำให้เกิดภาวะการคั่งค้างของเสมหะในทางเดินหายใจของผู้ป่วยเด็ก เป็นปัญหาสำคัญในการขัดขวางการระบายอากาศ ทำให้ปอดไม่สามารถแลกเปลี่ยนก๊าซได้ตามปกติ ส่งผลให้ต้องออกแรงในการหายใจมากขึ้นจนมีอาการหอบเหนื่อยตามมา บางรายอาจมีเสมหะมากจนอุดกั้นท่อทางเดินหายใจ อาจทำให้เกิดภาวะปอดบวมหรือปอดอักเสบได้ ผู้ป่วยเด็กจึงควรต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ และเมื่อมีการสะสมเสมหะมากขึ้น หรือเสมหะมีลักษณะเหนียวมากขึ้น จะทำให้ผู้ป่วยเด็กไม่สามารถขับเสมหะออกจากทางเดินหายใจโดยอาศัยกลไกของร่างกายเพียงอย่างเดียวจำเป็นต้องมีการทำกายภาพบำบัดทรวงอก (Chest Physiotherapy) เพื่อช่วยขับเสมหะออกมา ซึ่งได้แก่การเคาะปอด, การใช้แรงสั่นสะเทือน, การจัดท่าระบายเสมหะ และการฝึกไอให้มีประสิทธิภาพ


2. การเคาะปอด (Chest Percussion)

   การเคาะปอดและการสั่นปอด มีวัตถุประสงค์เดียวกัน คือการทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนผ่านผนังทรวงอกลงไปถึงแขนงหลอดลม ลมที่กระทบผนังทรวงอกขณะเคาะ จะทำให้เสมหะที่เกาะอยู่บริเวณทางเดินหายใจส่วนปลายค่อยๆหลุดเลื่อนไหลออกมาตามแขนงหลอดลมจากเล็กไปใหญ่ และเป็นการกระตุ้นให้ผู้ป่วยไอเพื่อระบายเสมหะออก ในเด็กเล็กอาจใช้ผ้าบางๆ วางบนตำแหน่งที่เคาะ การเคาะปอด จะต้องทำมือลักษณะเป็นกระเปาะหรือรูปถ้วย (cup hand) ปลายนิ้วชิดกัน ข้อมือ ข้อศอก และไหล่เคลื่อนไหวสบายๆ เคาะด้วยความถี่ 3 ครั้งต่อวินาที เป็นจังหวะสม่ำเสมอ ให้ทั่วๆบริเวณทรวงอกส่วนที่เคาะอยู่ เคาะวนเป็นวงกลม หรือเลื่อนไปทางซ้ายและขวาก็ได้ โดยเคาะตามลักษณะกายวิภาคศาสตร์กลีบของปอด 2 ข้าง กลีบละ 1 - 2 นาที ใช้เวลารวมทั้งหมดไม่ควรเกิน 30 นาที (ในทารกแรกเกิด นักกายภาพบำบัดอาจเลือกใช้วิธีใช้นิ้วเคาะปอดแทนการใช้ทั้งอุ้งมือ)

3. การสั่นปอด (Chest Vibration)
   การสั่นปอด จะออกแรงสั่นบนผนังทรวงอกที่ต้องการระบายเสมหะ โดยใช้แรงสั่นผ่านทางมือของผู้รักษา ในช่วงหายใจออกและขณะไอของผู้ป่วย แรงสั่นนี้จะช่วยทำให้เสมหะค่อยๆหลุดออกมาได้ดียิ่งขึ้น แต่วิธีนี้ต้องอาศัยความชำนาญของผู้รักษาค่อนข้างมาก เพราะเป็นท่าทางที่ทำให้เกิดอาการเมื่อยล้าที่แขนของผู้รักษาได้ง่าย หรือถ้าสั่นไม่ถูกวิธี อาจไม่ส่งผลให้เสมหะของผู้ป่วยหลุดออกมาตามทางเดินหายใจ ในปัจจุบันจึงนิยมใช้เครื่องมือที่ทำให้เกิดแรงสั่นคือ เครื่องสั่นปอด (chest vibrator) สามารถทดแทนการใช้มือของผู้รักษาได้ และในผู้ป่วยเด็ก การใช้เครื่องสั่นปอด พบว่าทำให้เด็กมีอาการหวาดกลัว หรือตกใจน้อยกว่าใช้มือเคาะปอดอีกด้วย

4. การจัดท่าระบายเสมหะ (Postural Drainage)

   เป็นการอาศัยหลักแรงโน้มถ่วงของโลกช่วยระบายเสมหะออกจากส่วนต่างๆของหลอดลม ด้วยการจัดท่าของผู้ป่วยให้ส่วนที่มีเสมหะคั่งค้างอยู่สูงกว่าทางออกของหลอดลมและปาก ทำให้เสมหะไหลออกจากหลอดลมเล็กสู่หลอดลมใหญ่  และถูกขับออกโดยกระตุ้นให้ผู้ป่วยไอและบ้วนเสมหะ นิยมใช้ร่วมกับเทคนิคการเคาะปอดและการสั่นปอด ใช้เวลาประมาณ 1 นาทีแต่ละท่า มีตัวอย่างดังนี้


ข้อห้ามของการเคาะปอดและการสั่นปอด

  1. มีภาวะเลือดออกง่าย หรือกำลังได้รับยาที่มีความเสี่ยงเลือดออกง่าย
  2. มีอาการบาดเจ็บที่ไขสันหลังเฉียบพลัน
  3. ซี่โครงหัก หรือมีภาวะที่มีความเสี่ยงกระดูกหักง่าย
  4. มีบาดแผลจากการปลูกถ่ายผิวหนัง (skin graft) หรือแผลไฟไหม้
  5. มีการสูดสำลักสิ่งแปลกปลอมเข้าไป
  6. มีภาวะสัญญาณชีพไม่คงที่
  7. มีลมในช่องเยื่อหุ้มปอดที่ยังไม่ได้รับการระบายออก (untreated pneumothorax)
  8. มีการอักเสบเฉียบพลันของระบบทางเดินหายใจ (acute inflammatory pulmonary process)
  9. มีการติดเชื้อวัณโรค หรือฝีในปอด

ข้อห้ามของการจัดท่าระบายเสมหะ

  1. ผู้ป่วยที่มีภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูง
  2. มีอาการบาดเจ็บที่ศีรษะ คอ กระดูกสันหลัง หรือกระดูกซ่โครงหัก
  3. หลังการผ่าตัดที่เกี่ยวข้องกับตา
  4. มีภาวะเลือดออกง่าย
  5. มีภาวะสัญญาณชีพไม่คงที่
  6. ไอเป็นเลือด, ภาวะหนองในโพรงเยื่อหุ้มปอด, โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด, มีแผลรูเปิดระหว่างหลอดลมและช่องเยื่อหุ้มปอด
วันเวลาทำการ
เปิดทุกวันทำการ วันจันทร์ - วันอาทิตย์ เวลา 08:00 - 20:00 น.
ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด ชั้น 6 โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
ติดต่อสอบถาม
โทรศัพท์ : 02-109-9111 ต่อ 10627, 10628
Call Center 1745


Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.