Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

การรักษาโรคภูมิแพ้ด้วยการฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิ

   
     โรคภูมิแพ้ เกิดจากผู้ป่วยไวต่อสารก่อภูมิแพ้ เช่น ขี้ฝุ่น เชื้อรา ไรฝุ่น ขนสัตว์ เกสรดอกไม้ ดอกหญ้า ทำให้มีอาการแพ้อากาศและอาการแพ้ที่ผิวหนัง จามติดๆกันทุกเช้าเวลาอากาศเปลี่ยน ฝนตก ครึ้มฟ้าครึ้มฝน ผิวหนังเป็นผื่นคัน เป็นลมพิษ ผิวหนังอักเสบเรื้อรังน้ำเหลืองเสีย เป็นจุดด่างดำ อาจเป็นตามฤดูกาล เช่น หน้าร้อนหรือหน้าแล้งช่วงที่ดอกไม้บาน หรือเป็นทั้งปี นอกจากนี้ยังทำให้มีเสมหะ ขอบตาดำ เกิดอาการหอบหืด เจ็บคอ ต่อมทอนซิลอักเสบ ต่อมอะดินอยด์โตในเด็ก หูชั้นกลางอักเสบชนิดมีน้ำขัง เกิดโรคแทรก เช่น ไซนัสอักเสบ นอนกรน หยุดหายใจขณะหลับ ที่เป็นเช่นนี้ เพราะสารก่อภูมิแพ้ที่ลอยปนเปื้อนในอากาศกระตุ้นให้เกิดการสร้างเม็ดเลือดขาว (Blymphocyte) และภูมิคุ้มกัน (IgE) ในผู้ป่วย เกิดการหลั่งสารเคมีที่ทำให้เกิดการแพ้ เช่น histamine, serotonin, prostaglandin โรคภูมิแพ้จึงเป็นได้แต่กำเนิด (เป็นกรรมพันธุ์) หรือเกิดขึ้นมาทีหลัง
การวินิจฉัยโรคภูมิแพ้
     แพทย์จะทำการซักประวัติอย่างละเอียดเพื่อหาสาเหตุ ประเมินระดับความรุนแรง และหาอาการแทรกซ้อน จากนั้นจะตรวจร่างกายอย่างละเอียดเพื่อยืนยันและวินิจฉัยแยกโรค
การรักษาโรคภูมิแพ้
     การรักษาโรคภูมิแพ้วิธีที่ดีที่สุด คือ การหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ , ออกกำลังกายซึ่งเป็นวิธีธรรมชาติ , หมั่นทำความสะอาดผิวหนัง แต่ถ้าทั้ง 3 วิธีนี้ไม่ได้ผลหรือทำไม่ได้ อาจใช้วิธีล้างช่องจมูกด้วยน้ำเกลือ ทำความสะอาดผิวหนังด้วยยา betadine และน้ำเกลือ ร่วมกับรับประทานยาแก้แพ้ (antihistamine) ข้อเสียของยาแก้แพ้ คือ ทำให้ง่วง เจริญอาหาร ปัสสาวะลำบากในผู้ชาย ดื้อยา ต้องรับประทานยาทุกวัน ลำดับขั้นต่อไปของการรักษา คือ ใช้ยาสเตียรอยด์เฉพาะที่พ่นในช่องจมูก หรือทาบริเวณผิวหนังที่เป็นแผล ซึ่งให้ผลดีกว่าการรับประทานยาแก้แพ้ แต่ก็มีข้อเสียคือต้องใช้ยาทุกวัน ห้ามใช้ยาในเด็กเล็กและหญิงตั้งครรภ์ และห้ามใช้ยาต่อเนื่องกันเกิน 12 สัปดาห์
     วิธีสุดท้ายของการรักษาคือ การฉีดวัคซีนภูมิแพ้ การฉีดวัคซีนภูมิแพ้ คือการฉีดสารก่อภูมิแพ้เข้าสู่ร่างกาย เพื่อกระตุ้นภูมิต้านทานต่อสารก่อภูมิแพ้ ยับยั้งการสร้างและการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ก่อให้เกิดการแพ้ อาจทำการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (skin prick test) ก่อนเพื่อหาว่าแพ้สารก่อภูมิแพ้ตัวใด แต่บ่อยครั้งที่ผลการทดสอบให้ผลหลอก การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังจึงใช้ประกอบเพื่อช่วยการตัดสินใจ กรณีนี้อาจฉีดสารก่อภูมิแพ้ที่มีการแพ้บ่อยไปก่อน แล้วนัดติดตามดูอาการ การฉีดวัคซีนภูมิแพ้ปัจจุบันนิยมฉีด high dose ที่ให้ผลดีกว่าวิธี low dose ซึ่งเป็นวิธีเก่า มักไม่ค่อยได้ผล ทั้งอาจก่อให้เกิดการแพ้สารตัวใหม่ (neo sensitization) วิธีฉีด high dose ใช้สารก่อภูมิแพ้ปริมาณสูง จึงควรอยู่ในมือของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ ในอดีตนิยมฉีดวัคซีนเข้าชั้นใต้ผิวหนังซึ่งค่อนข้างอันตรายและอาจแพ้รุนแรง ปัจจุบันนิยมฉีดเข้าชั้นผิวหนัง (intradermal) ในกรณีที่ฉีดยาในปริมาณสูงอาจฉีดเข้าชั้นไขมันและกล้ามเนื้อ (lipomuscular) ซึ่งปลอดภัยกว่าการฉีดเข้าชั้นผิวหนัง การวัคซีนภูมิแพ้มักให้ผลดี สามารถระงับอาการแพ้ของผู้ป่วยได้หลายเดือนถึงหลายปีกว่าจะกลับมาแพ้อีก ผู้ป่วยไม่ต้องรับประทานยาทุกวัน จึงนับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษาโรคภูมิแพ้
อัตราค่าบริการ
     การทดสอบภูมิแพ้ (SKIN TEST) 1,800 บาท ไม่รวมค่าแพทย์และค่าบริการโรงพยาบาล
วันเวลาทำการ 
วันจันทร์ - วันศุกร์ เวลา 08:00 – 16:00 น.
ศูนย์โรคภูมิแพ้ ชั้น 2 โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
ติดต่อสอบถาม
โทรศัพท์ :  02–109–9111 ต่อ 10225, 10226
โทรสาร :  02–877–2222  
Call Center : 1745
Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.