Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

คำถามยอดฮิต พิชิต COVID-19

25 มี.ค. 2563



   โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล ร่วมใจฝ่าวิกฤต พิชิต COVID-19 เรียนรู้กับ 9 คำถามยอดฮิต โดย ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และราชบัณฑิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารเวชศาสตร์โรคตับ ทางเดินอาหาร และโรคไวรัส


Q : เดินสวนกับผู้ป่วย COVID-19 ติดโรคไหม?
A : ไม่ติดโรค เพราะจริงๆ แล้ว โรคนี้ติดทางฝอยละออง ถ้าไม่มีการไอจามออกมา โอกาสที่จะติดน้อยมาก โดยทั่วไปการพูดคุยกัน แล้วถ้าอยู่ในรัศมี 1 เมตร แล้วคนพูดนั้น พูดเสียงดัง โอกาสที่ฝอยละอองจะมาถึงมีความเป็นไปได้ เพราะฉะนั้นเราจึงกำหนดระยะห่าง ถ้าเป็นไปได้อยากจะให้มีระยะห่าง อย่างน้อย 6 ฟุต หรือ 2 เมตร ในช่วงที่มีการระบาดของโรค จะเห็นได้อย่างหนึ่งว่า ในขณะนี้ประเทศจีน แม้กระทั่งการยืนเข้าคิว ยังมีการกำหนดระยะห่างเพื่อลดการแพร่กระจายของโรค

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

Q : จับของที่ส่งมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง จะติดเชื้อ COVID-19 ไหม?
A : การจับต้องสิ่งของโดยทั่วไปสิ่งของที่ส่งมาจะไม่ติดโรค อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นไปได้หมั่นล้างมือก่อนที่จะจับใบหน้า ไม่ว่าจะสัมผัสที่ตา จมูก หรือปาก

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

Q : ต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาไหม?
A : โดยปกติหน้ากากอนามัยจะใส่ไว้ให้กับคนป่วย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค ในกรณีที่คนปกติไปในที่ชุมชน หรือมีคนหมู่มาก อย่างรถไฟฟ้า รถเมล์ หรือไปงานที่มีคนเยอะๆ การใส่หน้ากากอนามัยป้องกันก็มีเหตุผล

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

Q : ปัจจุบันมียาและวัคซีนสำหรับ COVID-19 หรือยัง?
A : ในปัจจุบันนี้ โรคนี้ระบาดหนักมากในประเทศจีนก็ได้มีการศึกษาวิจัย โดยเฉพาะการใช้ยาในการรักษา ขณะนี้เริ่มมีข้อมูลออกมาแล้วว่า จะมียาที่ใช้ต้านไวรัสหรือลดการติดเชื้อของไวรัสได้ ส่วนเรื่องของวัคซีนที่ใช้ในการป้องกันเมื่อเกิดโรคระบาดนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกก็ร่วมมือกันในการพัฒนาวัคซีน แต่การพัฒนาวัคซีนอาจจะต้องใช้เวลามากกว่าการที่หายามารักษา เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องรอ

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

Q : ผู้สูงอายุมีโอกาสติดเชื้อ COVID-19 มากกว่าคนทั่วไป?
A : COVID-19 สามารถติดต่อทุกคนมีสิทธิที่จะติดโรคได้เท่ากันในทุกอายุ เพราะว่าเป็นโรคอุบัติใหม่ คนเราทุกคนยังจะไม่มีภูมิต้านทานต่อโรคนี้ จึงมีโอกาสติดได้เท่ากัน ไม่ว่าจะร่างกายแข็งแรง ไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็กหรือผู้ใหญ่ การติดโรคมีโอกาสติดได้เท่ากันแต่ความรุนแรงของโรคอาจจะแตกต่างกัน คนที่มีร่างกายแข็งแรงดีหรือในอายุน้อย ความรุนแรงของโรคก็จะมีน้อยกว่าผู้ที่มีอายุมาก หรือมีโรคประจำตัวร่วมด้วย

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

Q : ผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในระยะฟักตัว สามารถแพร่เชื้อได้?
A : จากข้อมูลในการศึกษาในปัจจุบันนี้ที่มีมาแล้วเป็นจำนวนมาก โรค COVID-19 มีระยะฟักตัวของโรค ตั้งแต่ 1 วัน จนถึง 14 วัน โดยมาตรฐานทั่วไปจะให้ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงเก็บตัวอยู่ที่บ้านเป็นระยะเวลา 14 วัน ในขณะนี้เริ่มมีข้อมูลออกมาว่า ผู้ป่วยในระยะฟักตัวระยะท้ายๆ อาจจะติดโรคไปยังผู้อื่นได้ แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ โอกาสที่จะไอ จาม หรือมีฝอยละอองออกมา โอกาสเกิดขึ้นได้น้อยกว่าผู้ที่มีอาการ ดังนั้นคนที่ไม่มีไอ หรือจาม โอกาสที่จะมีการแพร่กระจายของโรคไปสู่ผู้อื่นก็น้อย อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มเสี่ยงที่มาจากแหล่งระบาดของโรค ก็อยากจะให้เก็บตัวไว้อยู่ที่บ้าน ปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัดในการใส่หน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค ในกรณีที่เป็นโรคและควรกำหนดระยะห่างของบุคคล ระยะห่างกับคนในบ้าน ไม่ไปคลุกคลีหรือไม่ไปสัมผัส หลีกเลี่ยงการใช้ของร่วมกัน

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

Q : COVID-19 หายแล้วเป็นอีกได้ไหม?
A : โอกาสโรคนี้จะเป็นซ้ำอีกในทางปัจจุบันข้อมูลที่เห็นส่วนใหญ่พึ่งมีการติดตามได้ 2 - 3 เดือน แต่โดยหลักการทางไวรัสวิทยาในโคโรน่าไวรัสการเป็นแล้วควรจะมีภูมิต้านทานที่ใช้ในการป้องกันไม่ให้โรคนี้กลับมาเป็นใหม่ได้ ต้องมีการศึกษาในระยะต่อไปว่าตัวไวรัสจะมีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรม ขอยกตัวอย่างไข้หวัดใหญ่ตัวไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรม จึงเห็นได้ว่าไข้หวัดใหญ่สามารถที่จะเป็นแล้วเป็นอีกได้ เนื่องจากสายพันธุ์ของไข้หวัดใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกปี แต่สำหรับ COVID-19 ขณะนี้ยังไม่เห็นพฤติกรรมของไวรัสนี้เป็นแบบไข้หวัดใหญ่

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

Q : COVID-19 ติดจากคนสู่สัตว์ และสัตว์สู่คน?
A : สัตว์เลี้ยงที่เลี้ยงกันอยู่ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานว่าสัตว์เลี้ยงติดโรค COVID-19 หรือเป็นพาหะโรค หรือเป็นตัวแพร่กระจายโรค ถึงแม้ว่าจะมีรายงานพบเชื้อในสุนัขที่ฮ่องกง แต่ก็เป็นการพบตัวเดียว การพบนั้นปริมาณไวรัสค่อนข้างอ่อน แล้วต้องหาหลักฐานต่อไปว่าสุนัขตัวนั้นติดเชื้อ หรือเป็นการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสสู่สุนัข

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

Q : COVID-19 ทนอากาศไทยไม่ได้?
A : อากาศที่ร้อนโดยทั่วไปแล้วไวรัสจะทนความร้อนได้ไม่ดี หรือพูดง่ายๆ ก็คือว่า จะตายง่ายโดยสภาวะอากาศร้อนมากกว่าอากาศที่เป็นชื้นหรือเย็น ก็เป็นโชคดีของเราอันนึง เพราะว่าโรคติดต่อทางเดินหายใจในบ้านเราจะพบน้อยในฤดูร้อนแล้วก็จะเริ่มไปพบมากในฤดูฝน ตั้งแต่ เดือนมิถุนายน เป็นต้นไป

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

Q : อยากฝากอะไรถึงคนไทย ในสถานการณ์ COVID-19?
A : มีสื่อ Social media ออกมาค่อนข้างมาก ในการอ่านสื่อทุกวันๆ มันจะเหมือนกับเราอยู่ในสถานการณ์ของโรคระบาดที่น่ากลัว แล้วบางครั้งก็จะทำให้จิตใจของเรามีความวิตกกังวล นอนไม่หลับมีความตื่นตัวตลอดเวลา ในกรณีพวกนี้ก็อาจจะมีความกระทบทางจิตใจ เพราะฉะนั้นการเสพสื่อทั้งหลายจะต้องมีสติ แล้วก็ต้องแยกให้ได้ว่าสิ่งไหนเป็นความรู้สิ่งไหนเป็นความเห็น อยากให้รู้ว่าความรู้นั้น เพื่อเอามาใช้ในทางปฏิบัติในชีวิตประจำวันขณะนี้

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------



ขอขอบคุณข้อมูลโดย: ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และราชบัณฑิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารเวชศาสตร์โรคตับ ทางเดินอาหาร และโรคไวรัส
ที่มา : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.