Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

เตรียมพร้อมสุขภาพดี ปลอดภัย ช่วงเที่ยวปีใหม่

18 ธ.ค. 2561



   “ช่วงส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่” หลายคนหยุดยาว และออกเดินทางไปเที่ยวพักผ่อน ซึ่งสิ่งสำคัญคือการที่เราต้อง เตรียมตัวและเตรียมสุขภาพให้พร้อม เพื่อการท่องเที่ยวอย่างปลอดภัยและสบายใจหายห่วง โดยเฉพาะการเตรียมรับมือกับ สภาพอากาศ และการเดินทาง เพราะอาจทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บและอุบัติเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้นได้

เรื่องอะไรบ้าง !? ที่คุณค้องเตรียมพร้อม

   สภาพอากาศ ควรดูแลร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่มีอากาศเปลี่ยนแปลงหรืออากาศหนาวมากๆ หากอบอุ่นไม่เพียงพอ ร่างกายตากอากาศเย็นเป็นเวลานานอาจป่วยไข้หวัด และถึงขั้นเสียชีวิตได้ การป้องกัน คือ เตรียมเครื่องแต่งกายให้พร้อม ควรสวมเสื้อผ้าหนาๆ สวมถุงมือถุงเท้าและสวมหมวก ผู้ที่มีโรคประจำตัว ต้องนำยาไปเพื่อรับประทานตามที่แพทย์สั่งด้วย รวมถึงการหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัด ไม่เข้าไปในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด ควรล้างมือบ่อยๆ เพื่อป้องกันการสัมผัสกับเชื้อโรคที่อยู่ตามสถานที่ต่างๆ

   การเดินทาง สุขภาพคนขับเป็นสิ่งสำคัญ หากพักผ่อนไม่เพียงพอหรือดื่มแอลกอฮอล์ จะเกิดอาการง่วงนอน อาจหลับในอย่างไม่รู้ตัว เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ ผลของการง่วง จะทำให้ประสาทสัมผัสทุกอย่างช้าลง สมองตื้อ ตัดสินใจผิดพลาด ใจลอย ไม่มีสมาธิ การสั่งการของสมองไปยังกล้ามเนื้อช้าลง เมื่อเกิดเหตุการณ์คับขัน จึงแตะเบรกได้ช้ากว่าปกติ การป้องกัน คือ ก่อนเดินทางต้องมีการเตรียมตัวให้พร้อม นอนพักผ่อนให้เพียงพอ 7 - 9 ชั่วโมง งดการดื่มแอลกอฮอล์ รวมไปถึงยาที่ทำให้ง่วงซึม หรือแม้ว่าจะยังไม่รู้สึกเหนื่อย เมื่อรู้สึกง่วงล้า อย่าฝืนขับ ให้เปลี่ยนคนขับ หรือแวะจอดในที่ปลอดภัย และงีบหลับประมาณ 15 นาที ก็จะช่วยได้

  ระวังท้องร่วงจากโรตา โรคท้องร่วงไม่ได้มาเฉพาะฤดูร้อน ซึ่งในฤดูหนาวก็มีโรคท้องร่วงเช่นกัน โดยเฉพาะสาเหตุจาก “ไวรัสโรตา” เชื้อแพร่กระจายได้ดีในช่วงฤดูหนาว เกิดได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ อาการรุนแรง มีโอกาสถ่ายอุจจาระ 10 - 20 ครั้ง/วัน ดังนั้น ควรระวังการรับประทานอาหาร โดยเฉพาะการรับประทานอาหารในที่ต่างๆ ต้องกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ จะช่วยป้องกันได้     

   พฤติกรรมการดื่มฉลอง เพราะการดื่มสุราระยะแรกจะทำให้ร่างกายร้อนวูบวาบ ซึ่งเกิดจากการที่หลอดเลือดฝอยใต้ผิวหนังขยายตัว ความร้อนจะถูกระบายออกจากร่างกายมากขึ้นโดยไม่รู้ตัวทำให้อุณหภูมิของร่างกายลดลง หากดื่มสุราในปริมาณมาก ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะกดประสาทส่วนกลางทำให้มีอาการเมา อาจหลับโดยไม่รู้สึกตัวประเภทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มฉลองหนักๆ ต่อเนื่องหลายวัน รวมทั้งความเชื่อผิดๆ ในการดื่มสุราแก้หนาว ทำให้อาจถึงขั้นช็อคหมดสติ หรือเสียชีวิตได้

ทำอย่างไร ?? หากตกอยู่ใน... “นาทีฉุกเฉิน”
  ตามมาตรฐานสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน ควรปฏิบัติ ดังนี้
  • ตั้งสติและโทรแจ้งสายด่วนฉุกเฉินอย่างเร็วที่สุด และให้ข้อมูลว่าเกิดเหตุ พร้อมบอกสถานที่ให้ชัดเจน
  • บอกเพศ อายุ จำนวนผู้เจ็บป่วย และระดับความรู้สึกตัวของผู้ป่วย และความเสี่ยงที่อาจเกิดซ้ำ เช่น อยู่กลางถนน
  • บอกชื่อผู้แจ้ง เบอร์โทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้
  • ช่วยเหลือเบื้องต้นตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ ระหว่างรอทีมกู้ชีพมารับนำส่งโรงพยาบาล

สนับสนุนข้อมูลโดย : พญ.นุชจรี สินสุขพร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745

 

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.