Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

การตรวจ AMH มีประโยชน์อย่างไรในการทำเด็กหลอดแก้ว / ICSI

27 ม.ค. 2565


Anti-Mullerian Hormone
(AMH) คืออะไร
   Anti-Mullerian Hormone หรือ AMH เป็น glycoprotein ฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่สามารถตรวจพบได้ทั้งในเพศชายและเพศหญิง ในเพศชายสร้างมาจาก sertoli cell ซึ่งเป็นเซลล์ที่อยู่ในอัณฑะของเพศชาย ทำหน้าที่ผลิตเซลล์อสุจิและสร้างฮอร์โมนที่สำคัญต่างๆรวมทั้ง AMH ส่วนในเพศหญิงนั้นสร้างมาจากเซลล์ไข่อ่อนในรังไข่ในระยะตั้งแต่ primordial follicle, preantral และ small antral follicle ซึ่งเซลล์ไข่ในระยะเหล่านี้จะสะสมในรังไข่ในระยะสงบ ยังไมได้สัมผัสฮอร์โมนในร่างกายเพื่อรับการกระตุ้นเป็นไข่ที่โตสมบูรณ์

คนกลุ่มไหนที่ควรตรวจหา Anti-Mullerian Hormone (AMH)

   AMH ตรวจหาได้จากการเจาะเลือด ในเพศหญิงนั้นสามารถเจาะเลือดได้ตลอดทุกช่วงของประจำเดือน แต่ควรหลีกเลี่ยงในช่วงที่กำลังคุมกำเนิดหรือตั้งครรภ์เนื่องจากค่าAMH ที่ได้อาจไม่ตรงกับความเป็นจริง ค่า AMH ใช้ประโยชน์ในการคาดคะเน ovarian reserve (ปริมาณไข่ที่เหลืออยู่ในรังไข่) โดยมีค่าความจำเพาะอยู่ที่ร้อยละ 80 และค่าความไวในการตรวจหาอยู่ที่ร้อยละ 98.2 สำหรับกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการตรวจประเมินนั้นได้แก่ สตรีที่เคยได้รับเคมีบำบัดหรือรังสีรักษาบริเวณช่องท้องใกล้กับตำแหน่งอุ้งเชิงกราน คู่สมรสฝ่ายหญิงที่มีภาวะมีบุตรยากและมีความจำเป็นในการประเมิน ovarian reserve ส่วนผู้หญิงที่อยู่ในกลุ่มสุขภาพดีทั่วไป การตรวจหา AMH ยังสามารถใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนมีบุตร โดยเฉพาะในสตรีที่มีอายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป ที่เริ่มมีรายงานในปัจจุบันพบว่าปริมาณไข่ที่เหลืออยู่ในรังไข่เริ่มมีปริมาณลดลง
   สำหรับเพศชายนั้นในปัจจุบันพบว่าการตรวจหาค่า AMH จะมีประโยชน์ในการหาสาเหตุและวางแผนการรักษา ในกลุ่มที่ตรวจไม่พบตัวอสุจิแบบ Non-obstructive Azoospermia) หรือตัวอสุจิปริมาณน้อยมาก (Severe Oligozoospermia)

ค่าปกติและการแปลผลเป็นอย่างไร
   ค่า AMH ในสตรีโดยปกติจะลดลงตามอายุ ในช่วงวัยเจริญพันธุ์อายุ 20- 29 ปี ค่าเฉลี่ยจะอยู่ในช่วง 3.3 – 4 ng/ml, อายุ 30-39 ปี ค่าเฉลี่ยจะอยู่ในช่วง 2.0 – 2.8 ng/ml หลังจากนั้นเมื่ออายุ > 40 ปี ค่าเฉลี่ยจะอยู่ประมาณ 1.0 ng/ml  สำหรับในเพศชายนั้นค่าเฉลี่ยจะอยู่ในช่วง 4-5 ng/ml

การตรวจ AMH มีประโยชน์อย่างไรในการทำเด็กหลอดแก้ว / ICSI
   ค่า AMH จะถูกนำมาใช้เป็นข้อมูลประกอบการรักษาในแง่ของ การเลือกใช้ชนิดและปริมาณยาที่เหมาะสมสำหรับการกระตุ้นไข่ การเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนจากการกระตุ้นไข่เพื่อทำเด็กหลอดแก้ว ตัวอย่างเช่นภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไป หรือ ovarian hyperstimulation syndrome (OHSS) นอกจากนี้ยังสามารถนำมาใช้ทำนายการตอบสนองของเซลล์ไข่หลังจากที่ทำการกระตุ้นไข่ได้ ทั้งนี้อาจกล่าวได้ว่าการตรวจหาค่า AMH ก่อนการกระตุ้นไข่จะช่วยให้แพทย์ละผู้ป่วยเห็นภาพและคาดการณ์ความสำเร็จจากการทำเด็กหลอดแก้วในรอบนั้นๆได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

สนับสนุนข้อมูลโดย : นายแพทย์ธนิก โชคจิรวัฒน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสูติศาสตร์นรีเวชกรรมเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.