Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

ไขมันทรานส์ ระวังอย่างไร ไม่เพิ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด

12 ก.ย. 2561



   กระทรวงสาธารณสุข ประกาศเมื่อช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เกี่ยวกับอันตรายของ “กรดไขมันทรานส์” โดยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ได้ชี้ให้เห็นว่า ไขมันทรานส์ หรือกรดไขมันทรานส์ จากน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนเพื่อช่วยให้อาหารไม่เหม็นหืน ไม่เป็นไข แต่กลับส่งผลต่อร่างกาย การรับประทานไขมันทรานส์ในปริมาณมาก จะไปเพิ่มไขมันไม่ดีในเลือด (LDL-Cholesterol) และลดไขมันที่ดีในเลือด (HDL-Cholesterol) เพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ ยังเสี่ยงป่วยอีกหลายโรคอีกด้วย ทั้งความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน รวมไปถึงโรคอ้วน
ระวังอย่างไร...ไม่เพิ่มโรค !?
 การระวังที่ดีที่สุด คือ การหลีกเลี่ยงอาหารที่มีโอกาสพบไขมันทรานส์ ดังนี้
  • หลีกเลี่ยงฉลากที่เกี่ยวกับกรดไขมันทรานส์ (Prtially Hydrogenated Oil หรือ Hydrogenated Oil)
  • อาหารที่มีส่วนผสมของเนยเทียมและเนยขาว
  • ลดการกินเนื้อสัตว์ติดมัน
  • กินผักและผลไม้มากขึ้น
  • เลือกใช้น้ำมันพืช เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันมะกอก
   นอกจากการหลีกเลี่ยงดังที่กล่าวไป การที่เรารู้ถึงสุขภาพของตนเองว่าสุขภาพของเรา เข้าใกล้ความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดหรือไม่ ด้วยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) หรือ ตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการวิ่งสายพาน (EST) หรือ ตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echo) อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ควบคู่กับการตรวจสุขภาพประจำปี โดยเฉพาะผู้มีอายุตั้งแต่ 35 - 40 ปีขึ้นไปหรือหากมีอาการบอกสัญญาณโรคหัวใจ เช่น เจ็บแน่นหน้าอก ใจสั่น ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที
โรคหัวใจและหลอดเลือด อันตรายอย่างไร !?
   เพราะอันตรายของโรคหัวใจและหลอดเลือด มักไม่แสดงอาการชัดเจนในระยะเริ่ม กว่าจะรู้อาจจะสายเกินไป เมื่อเกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน หรือ Heart Attack มักเป็นอย่างฉุกเฉิน ซึ่งหากตรวจพบอาการตั้งแต่เริ่มต้นสามารถรักษาได้ โดยการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ รักษาตามระยะหรืออาการ ดังนี้
  • เริ่มตั้งแต่การให้คำแนะนำในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่เป็นปัจจัยเสี่ยง ร่วมกับการรักษาด้วยยา
  • การรักษาโรคหลอดเลือดโคโรนารีผ่านสายสวน เป็นการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนร่วมกับการสอดฝังขดลวดค้ำยันผนังหลอดเลือด 
  • การให้ยาละลายลิ่มเลือด หรือใช้เครื่องมือทางการแพทย์ชนิดพิเศษ
  • การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ ส่วนใหญ่จะทำเมื่อเส้นเลือดตีบและอุดตันแล้วประมาณ 70% ขึ้นไป แต่หากมีไขมันมาเกาะโดยไม่มีหินปูน และมีอายุ 30-40 ปี อาจรักษาด้วยการทานยาอาจช่วยให้ไขมันลดลง หรือกรณีที่อุดตันเส้นเดียว สามารถรับประทานยา หรือ ใส่ขดลวดบอลลูนได้
“BPK9 Family” เพราะคุณคือครอบครัวของเรา
สนับสนุนข้อมูลโดย : นพ.สหรัฐ หวังเจริญ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาอายุรศาสตร์โรคหัวใจ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 1745 ต่อ ศูนย์หัวใจ ชั้น 3 โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.