Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

โรคท้องผูก...ปัญหาที่ไม่ควรมองข้าม

25 ก.ค. 2562


   ปัญหาท้องผูกเชื่อว่า หลายๆ คนคงจะมีมาเป็นเวลานานและจะคิดไปว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ความเป็นจริงหากปล่อยให้ท้องผูกติดต่อกันเป็นเวลานานจนเรื้อรังอาจส่งผลให้เกิดผลเสียหลายอย่าง ทั้งทางร่างกาย รวมไปถึงผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ดังนั้นถ้ารู้เท่าทันอาการท้องผูกจะช่วยให้เรารับมือและปฏิบัติตัวได้อย่างถูกวิธี

เช็คกันแบบไหนที่เรียกว่าท้องผูก..??

    ผู้คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า ท้องผูกหมายถึงการถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ แต่จริงๆ แล้วอาการท้องผูกไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนครั้งหรือความสม่ำเสมอในการขับถ่าย ตราบใดที่สามารถถ่ายได้อย่างสบายๆ ไม่ต้องเบ่ง อุจจาระนิ่มจับตัวเป็นก้อนดี แม้ 2-3 วันจะถ่ายสักครั้งก็ไม่ถือว่าผิดปกติ
    แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่รู้สึกว่า การขับถ่ายเป็นเรื่องยาก และหลายครั้งที่จะต้องอยู่ในห้องน้ำเป็นเวลานานหลายชั่วโมงเพื่อเบ่งถ่ายอุจจาระมากหรือเบ่งยาก อุจจาระแข็งมีลักษณะเป็นเม็ดกระสุนหรือเป็นก้อนแข็ง บางครั้งต้องใช้นิ้วล้วงช่วย ทำให้ถ่ายไม่สุดเหมือนมีอะไรมาอุดกั้นอยู่ รู้สึกอึดอัดแน่นท้อง ทั้งหมดนี้บ่งบอกว่าคุณมีอาการท้องผูกอย่างแน่นอน

ท้องผูกเกิดจากอะไร...??

  • โรคทางกาย เช่น เบาหวาน ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ แคลเซียมในเลือดสูง โรคทางสมองและไขสันหลัง เป็นต้น
  • โรคของลำไส้ เช่น มะเร็งหรือเนื้องอกของลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ลำไส้ตีบตัน ลำไส้บิดพับกัน ความผิดปกติที่ทวารหนัก เป็นต้น
  • ยาที่รับประทานประจำ เช่น ยาแก้แพ้บางชนิด ยากันชัก ยาลดความดันโลหิต ยาแก้ปวดที่มีส่วนผสมของมอร์ฟีน ธาตุเหล็กแคลเซียมอลูมิเนียม เป็นต้น
  • การทำงานของลำไส้หรือกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักควบคุมการขับถ่ายทำงานผิดปกติ เช่น การเคลื่อนไหวของลำไส้ใหญ่ช้ากว่าปกติ กล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักทำงานไม่ประสานกับการเบ่งหรือภาวะลำไส้แปรปรวน

เช็คอาการเสี่ยงท้องผูกหรือไม่...!!

  • มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 50 ปี
  • มีประวัติสมาชิกในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่
  • มีอาการโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก
  • ถ่ายอุจจาระดำหรือเป็นเลือดอาเจียนดำหรือเป็นเลือด
  • ท้องผูกจนมีอาการของลำไส้อุดตัน(ปวดท้องมากอึดอัดแน่นท้องคลื่นไส้อาเจียน)
  • น้ำหนักลดผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ท้องผูกที่รบกวนมากและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือรับประทานยาระบายเบื้องต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น

   ดังนั้นหากมีอาการเหล่านี้ควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุเพิ่มเติมที่ทำให้เกิดอาการท้องผูก เพราะปัญหาท้องผูกไม่ใช่เรื่องที่ควรละเลยหรือนิ่งนอนใจ หากปล่อยไว้ให้เรื้อรังอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างริดสีดวงทวาร เกิดแผลที่ทวารหนักหรือลำไส้ตรง ภาวะอุจจาระอัดแน่น รวมไปถึงอาจเป็นอาการแสดงเริ่มต้นของโรคและปัญหาสุขภาพต่างๆ ตามมา ซึ่งไม่เป็นผลดีกับร่างกายในระยะยาว    

เมื่อท้องผูกแก้ได้อย่างไร...!!

  • การปรับเปลี่ยนการทานอาหารการใช้ชีวิตให้ถูกต้อง ได้แก่ รับประทานผัก ผลไม้ และอาหารที่มีกากใยสูง
  • รับประทานยา (ไฟเบอร์และยาระบาย) เป็นหลัก
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • ควรดื่มน้ำเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 5 ถึง 2 ลิตรต่อวัน
  • สร้างกิจวัตรในการถ่ายอุจจาระให้สม่ำเสมอและให้เป็นเวลา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาระบายต่อเนื่องและยาวนานโดยไม่จำเป็น หากจำเป็นต้องใช้ยา ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกร
สนับสนุนข้อมูลโดย : นพ. พีระนาถ  โชติวิทยธารากร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ
โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745


Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.